ขนมแมวเลียน้องแมวกินมากไม่ดี จริงไหม?
ขนมแมวเลียน้องแมวกินมากไม่ดี จริงไหม?
ส่วนประกอบของขนมแมวเลีย
ขนมแมวเลียจัดเป็นอาหารว่างประเภทหนึ่ง ดังนั้นส่วนประกอบหลักจะคล้ายกับอาหารสำเร็จรูปทั่วไป ได้แก่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต นอกจากนี้ยังมีสารสังเคราะห์อื่น ๆ เช่น สารแต่งกลิ่น แต่งรส สารที่ช่วยให้เกิดความคงตัวของอาหาร ซึ่งแต่ละยี่ห้อจะมีรายละเอียดแตกต่างกัน
ปริมาณการให้ขนมแมวเลียที่เหมาะสม
การคำนวณปริมาณขนมที่เหมาะสมต่อวัน สำหรับแมวแข็งแรง (ไม่มีโรคประจำตัว) และหุ่นดี (ไม่ผอมจนเห็นกระดูกซี่โครง แต่ก็ไม่อวบจนคลำไม่เจอกระดูกซี่โครง และยังสามารถมองเห็นเอวได้เมื่อมองจากมุมสูง) จะสามารถได้รับพลังงานจากขนม หรือของกินเล่นอื่น ๆ ได้ไม่เกิน 10% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวัน และอีก 90% ที่เหลือ ควรเป็นพลังงานที่ได้รับจากอาหารหลัก ซึ่งมีสารอาหารครบถ้วน
การคำนวณพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน จะเริ่มจากการคำนวณพลังงานที่ต้องการในขณะพัก (Resting Energy Requirement: RER, kcal/day) = 70 x น้ำหนักตัว(kg)0.75 หรือ (30 x น้ำหนักตัว kg) + 70 (ค่าที่ได้จาก 2 สูตรนี้ อาจแตกต่างกันเล็กน้อย) จากนั้นจึงนำ RER ที่ได้ไปคำนวณพลังงานที่เหมาะสมกับแต่ละตัว (Daily Energy Requirement: DER) ซึ่งเบื้องต้นจะพิจารณาจากอายุ สถานะการทำหมัน พฤติกรรม(ซนหรือนอนเยอะ) ดังนี้
ลูกแมว (วัยกำลังโต) พลังงานที่เหมาะสมคือ 2.5 x RER
แมวโตเต็มวัย ทำหมันแล้ว พลังงานที่เหมาะสมคือ 1.2 x RER
แมวโตเต็มวัย ยังไม่ได้ทำหมัน พลังงานที่เหมาะสมคือ 1.4 x RER
แมวยังไม่อ้วน แต่อ้วนง่าย (เอาแต่นอน ไม่ค่อยออกแรง) พลังงานที่เหมาะสมคือ 1.0 x RER
แมวอ้วนที่ต้องลดน้ำหนัก พลังงานที่เหมาะสมคือ 0.8 x RER
การเลือกซื้อขนมแมวเลีย
คำแนะนำในการเลือกซื้อขนมแมวเลีย ควรดูยี่ห้อที่มีการรับรองคุณภาพที่เชื่อถือได้ มีที่มาที่ไปชัดเจน ทั้งผู้ผลิต (หรือผู้จัดจำหน่าย ในกรณีที่เป็นสินค้านำเข้า) วันที่ผลิต วันหมดอายุ มีฉลากแสดงส่วนประกอบ วัตถุดิบหลัก และควรมีปริมาณบอกแคลอรีต่อหนึ่งซอง (เล็ก) ด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณปริมาณที่เหมาะสม หลังจากน้องเหมียวได้ทดลองกินแล้ว ควรสังเกตด้วยว่า กินน้ำมากเกินปกติหรือไม่ เพราะหากกินน้ำมากขึ้นอย่างชัดเจน อาจเป็นไปได้ว่าขนมนั้นมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง
ข้อควรระวังของขนมแมวเลีย
สำหรับน้องเหมียวที่มีปัญหาสุขภาพอื่น เช่น น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรือมีโรคประจำตัวที่ต้องควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด เช่น เบาหวาน ตับ ไต หัวใจ อาจมีเรื่องที่ต้องพิจารณาในรายละเอียดมากกว่านี้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาสัตวแพทย์ประจำตัวของน้องเหมียวก่อนที่จะให้รับประทานอาหารนอกโปรแกรม
สรุป
ควรให้น้องแมวกินในปริมาณที่เหมาะสมและคอควรสังเกตด้วยว่า กินน้ำมากเกินปกติหรือไม่ เพราะหากกินน้ำมากขึ้นอย่างชัดเจน อาจเป็นไปได้ว่าขนมนั้นมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูงการให้กินขนมมากเกินไปจะส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำหนักเกินตามมา และจะนำโรคต่าง ๆ มาสู่เจ้าเหมียวมากมาย เช่น เบาหวาน โรคกระดูกและข้อ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง ไปจนถึงมะเร็งบางชนิด หรือบางรายที่ให้กินขนมแมวเลียบ่อยเกินไป (มากกว่า 2-3 ครั้ง/สัปดาห์) อาจก่อให้เกิดปัญหาเลือกกิน และปฏิเสธอาหารหลัก ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับโภชนาการที่ไม่เหมาะสมตามมา เพราะขนมไม่ใช่อาหารหลัก สิ่งที่ได้จากขนมหรือของว่าง คือความอร่อยและพลังงาน จึงไม่สามารถใช้แทนอาหารหลักได้
ข้อมูลอ้างอิง
honestdocs.co