PANTONE สำคัญยังไง
PANTONE สำคัญยังไง
PANTONE (แพนโทน) เป็นหนึ่งในมาตรฐานของระบบสี ที่กำหนดโดยบริษัท Pantone ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่บอกว่าเป็นหนึ่งในมาตรฐาน ก็เป็นเพราะว่า มาตรฐานระบบสีที่ใช้กันในปัจจุบันนั้น ไม่ได้มีแค่แพนโทนเพียงมาตรฐานเดียว แต่ยังมีมาตรฐานอื่น ๆ จากประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศด้วยกัน
สาเหตุที่ต้องมีระบบสีขึ้นมาก็เพราะว่า เพื่อให้การสื่อสารระหว่างดีไซเนอร์ นักออกแบบ นักตกแต่ง โรงพิมพ์ ฯลฯ กับลูกค้า มีจุดที่ใช้อ้างอิงได้ว่ากำลังพูดถึงสีอะไรกันแน่ เพราะลำพังบอกว่าอยากได้สีเขียว แต่เฉพาะเขียวก็มีเป็นร้อยเป็นพันเฉดด้วยกัน ชื่อสีที่คิดกันขึ้นมาแต่ละชื่อนั้นก็สุดจะพิสดารและคาดเดาได้ลำบาก เขียวหัวเป็ด เหลืองมะนาว ขาวดิจิตอล ดำเมี่ยม เหลืองอำพัน แดงเลือดนก ฯลฯ ดังนั้น บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสี ก็เลยพยายามสร้างมาตรฐานของตัวเองขึ้นมา เพื่อที่จะระบุได้อย่างแน่ชัดว่า สีนี้คือสีอะไร ด้วยการสร้าง Code เป็นตัวเลขแทนที่จะเป็นชื่อเรียก เช่น เขียวหัวเป็ด อาจจะหมายถึงสี PANTONE เบอร์ P126-8C เป็นต้น รวมถึงอัตราส่วนในการผสมสีด้วยว่า สี P126-8C นี้ จะต้องผสมอย่างไรถึงจะได้สีนี้ออกมา
PANTONE PMS ฉบับมาตรฐาน จะมีอยู่ 2 เล่มด้วยกันคือ
CR :https://www.linkedin.com/pulse/how-paper-affects-printed-colors-terry-graham
Coated (มีตัวย่อ C กำกับอยู่กับรหัสสี) ซึ่งสีรหัส Coated จะใช้กับกระดาษที่มีการขัดเคลือบผิวหน้ากระดาษมา เช่นพวกกระดาษอาร์ตมัน ผิวกระดาษจะลื่น เงาวาว หมึกลอยบนเนื้อกระดาษได้ดี สะท้อนแสงได้ดี
Uncoated (มีตัวย่อ U กำกับอยู่กับรหัสสี) จะใช้กับกระดาษที่ไม่ได้มีการขัดเคลือบผิวมา เนื้อกระดาษจะมีความสาก ด้าน ดูดซับหมึกสูง สะท้อนแสงน้อย เช่นพวกกระดาษปอนด์
ปัญหาของโรงพิมพ์กับสีแพนโทน PANTONE
สีที่ลูกค้าเห็นในจอมอนิเตอร์นั้น ไม่มีทางที่จะตรงกับสีจากมาตรฐาน PANTONE ได้อย่างแน่นอน จอมอนิเตอร์เป็นการผสมสีกันของหลอดไฟ 3 สี แดง (R) เขียว (G) น้ำเงิน (B) ปรับระดับได้แค่สีละ 0-255 ระดับ ซึ่งผสมกันออกมาได้แค่ 256 x 256 x 256 = 16,777,216 สีเท่านั้น แต่ด้วยแม่สีของ PANTONE ที่มีมากถึง 18 สี ปรับระดับในหน่วยเป็นกรัม ปกติจะวัดกันถึงทศนิยมหลักที่ 2 หรือขยับทีละ 0.01 กรัม สามารถผสมออกมาได้นับพันล้านสี ไหนจะเรื่องการส่องสว่างของแสงอีก ค่าสี RGB ถึงจะมีค่าเดียวกัน แต่ถ้าปรับความสว่างหน้าจอไม่เท่ากัน สีก็ไม่เหมือนกัน ทางเดียวที่จะชัวร์ว่าลูกค้าเห็นสีแบบเดียวกันกับโรงพิมพ์แน่ ๆ ก็คือ ลูกค้าต้องมีตารางสีของ PANTONE อยู่ในมือด้วยนั่นเอง
PANTONE CMYK มาตรฐานสำหรับการพิมพ์ด้วยระบบสี CMYK โดยเฉพาะ
แต่ถ้าเราต้องการประหยัดงบประมาณด้วยการพิมพ์แค่ 4 สีมาตรฐาน CMYK แล้วอยากให้สีใกล้เคียงกับแพนโทนที่สุดล่ะ จะทำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ทาง PANTONE โรงพิมพ์ส่วนใหญ่ในโลกใบนี้ ใช้วิธีพิมพ์สี Process CMYK กันทั้งนั้น PANTONE จึงได้ออกตารางไกด์สี PANTONE สำหรับ CMYK มาโดยเฉพาะ 2 ระบบ นั่นก็คือ
PANTONE CMYK : เป็นการใช้สีเพียง 4 สี CMYK มาผสมเป็น PANTONE รหัสของสีจะเปลี่ยนไป เช่น P 112-6 C (P ตัวแรกบอกให้รู้ว่าคือสี Process ไม่ใช่สี Solid ตามมาตรฐาน / C ตัวหลังบอกว่าเป็นกระดาษแบบ Coated หรือกระดาษจำพวกอาร์ตมัน)
PANTONE Color Bridge : ใช้สำหรับกรณีที่ลูกค้าเลือกสี PANTONE Solid มา แล้วต้องการแปลงสีจาก Solid ไปเป็น Process ตัว Bridge จะมีการเทียบสีให้ดูว่า สี Process CMYK สีไหนที่มีความใกล้เคียงกับสี PANTONE Solid ตามมาตรฐานมากที่สุด
ทั้ง 2 ระบบนี้ เป็นการใช้สี CMYK ล้วน ๆ ซึ่งจำนวนสี ความสด ความสว่าง ความแน่นของสี เข้มข้น จัดจ้าน จะไม่สามารถเทียบเคียงกับ PANTONE มาตรฐานหลักได้เลย แต่การันตีได้แน่นอนว่า เป็นชุดสีที่สามารถพิมพ์กับโรงพิมพ์ระบบออฟเซ็ตได้ทั่วไป แม้สีจะไม่สดเท่าแต่อย่างน้อยลูกค้าและโรงพิมพ์ก็มีมาตรฐานกลางจากตัว PANTONE ในการเทียบสีให้เข้าใจตรงกัน ในตัวแคทตาล็อกของ PANTONE Color Bridge เอง ยังเห็นได้ชัดเจนว่า สี PANTONE Solid บางสี มีความแตกต่างกับสี PANTONE CMYK อย่างมาก หลาย ๆ ครั้งลูกค้าที่ไม่เข้าใจก็จะนึกว่าทางโรงพิมพ์พิมพ์สีเพี้ยน ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่เลยครับ มันเป็นข้อจำกัดของระบบสีเอง
CR :https://www.pantone.com/connect
สรุป
เมื่อไหร่ที่ควรใช้สี PANTONE งานแบบไหนที่เหมาะกับการผสมสี PANTONE มาตรฐานปกติ
- เหมาะกับงานที่ต้องการความถูกต้องของสีสูงมาก เช่น โลโก้องค์กร สีอัตลักษณ์องค์กร
- เหมาะกับงานที่ต้องการความนิ่ง ความคงเส้นคงวาของสี
- เหมาะกับงานที่มีปริมาณสูง พิมพ์ระยะยาวต่อเนื่อง เช่น กล่องสินค้าบรรจุภัณฑ์ สีของ
- สินค้าล๊อตแรก ควรจะเหมือนกันล๊อตหลังเป็นต้นลูกค้าสามารถยอมรับกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเข้ามาได้ ทั้งในเรื่องของการผสมสี เทสสี ปรู๊ฟสี เหล่านี้มีค่าใช้จ่ายทั้งนั้น
เมื่อไหร่ที่ไม่ควรใช้สี PANTONE หรือใช้เป็นตัว PANTONE CMYK
- ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย
- งานพิมพ์ยอดน้อย
- เป็นการพิมพ์เพื่อใช้งานเพียงครั้งเดียว ไม่มีข้อเปรียบเทียบของล๊อตแรก ล๊อตหลัง
- สามารถยอมรับได้กับการเทียบสีด้วยวิธีการอื่น ๆ
อ้างอิงจาก https://www.wacharinprint.com/what-is-pantone-vs-cmyk/